รับมืออาการ “แพ้ยาคุมกำเนิด” เกิดขึ้นได้ ก็รักษาได้เหมือนกัน

รับมืออาการ “แพ้ยาคุมกำเนิด” เกิดขึ้นได้ ก็รักษาได้เหมือนกัน!

สาว ๆ หลายคนอาจสงสัยว่าอาการแพ้ยาคุมกำเนิด เกิดขึ้นได้จริงหรือเปล่า? เพราะสิ่งที่เข้าใจกันโดยทั่วไปคืออาการที่มาจากผลข้างเคียงปกติเท่านั้น ซึ่งก็แล้วแต่ว่าอาการใครจะมาก จะน้อย หรือไม่มีเลยก็เป็นได้ ทว่าสาว ๆ ที่มีอาการแพ้นั้นจะมีความรุนแรงที่ชวนหงุดหงิดต่างออกไป กลายเป็นข้อจำกัดในการใช้ยาคุมกำเนิดที่ทำให้สาว ๆ ไม่รู้ว่าต้องแก้ไขยังไง จะเลิกใช้ก็กลัวท้อง ถ้าใช้ก็สุขภาพแทบพัง…จริง ๆ แล้วอาการนี้มีทางออก ลองมาดูอาการที่เข้าข่ายว่าจะเป็นอาการแพ้ แล้วลองดูแนวทางการรักษากันดีกว่าจ้า

ทำความเข้าใจกับตัวยาในเม็ดคุมกำเนิดให้ดีก่อน

ถ้าจำเป็นต้องใช้ยาคุมกำเนิด ก็ต้องเข้าใจด้วยว่าลักษณะของยาคุมนั้นมีส่วนประกอบของอะไรเป็นหลัก ซึ่งก็แน่นอนว่าต้องเป็นฮอร์โมน 2 ชนิดหลัก นั่นก็คือเอสโตรเจน และโปรเจสติน ทำหน้าที่ออกฤทธิ์ร่วมกัน โดยจะเข้าไปยับยั้งการตกไข่ แถมยังช่วยให้อสุจิเข้าไปปฏิสนธิลำบากเนื่องจากบริเวณปากมดลูกจะมีของเหลวที่เหนียวข้นกว่าปกติ ส่วนของผนังมดลูกจะบาง ช่วยลดโอกาสไม่ให้ตัวอ่อนฝังตัวได้

ในการรับประทานยาคุมกำเนิดแบบทั่วไป จะมีให้เลือกแบบ 21 เม็ด และแบบ 28 เม็ด ซึ่งทั้งสองรูปแบบของยาคุมต่างกันแค่จำนวนเม็ด แบบหลังจะเป็นเม็ดยาแบบไม่มีฮอร์โมนเพิ่มเข้ามา 7 เม็ด ในช่วงนี้นับว่าเป็นช่วงหยุดยา อาจเรียกได้ว่ายาหลอกที่เพิ่มเข้ามานี้ช่วยในเรื่องป้องกันการลืมกินยา หลังจากรับประทานครบ 28 เม็ดแล้ว ก็สามารถเริ่มต้นแผงใหม่ได้

การรับประทานที่ถูกต้อง แนะนำว่าให้เริ่มเม็ดแรกเมื่อมีรอบเดือนในครั้งถัดไป กรณีที่เริ่มล่าช้า จำเป็นต้องใช้การคุมกำเนิดวิธีอื่นช่วยด้วย เช่น การใช้ถุงยางอนามัย เป็นต้น

อาการข้างเคียงทั่วไปที่เกิดขึ้นได้

ตามปกติการใช้ยาคุมกำเนิดมีผลกับฮอร์โมนธรรมชาติในร่างกายอยู่แล้ว เมื่อรับประทานเข้าไป มีโอกาสที่จะทำให้เกิดอาการดังนี้ได้

1.มีสิวเพิ่มมากขึ้น ผมร่วง น้ำหนักตัวเพิ่ม

2.มีเลือกออกแบบผิดปกติ กะปริดกะปรอย หรืออาจมามากกว่าปกติ โดยทั่วไปพบในกลุ่มที่เริ่มรับประทานยาครั้งแรก

3.รู้สึกคลื่นไส้ เวียนหัว ปวดหัว มีอาการคัดเต้านม และเจ็บบริเวณหน้าอก

4.มีอาการท้องอืด เลือกออกจากช่องคลอดเล็กน้อยในช่วงที่ไม่ใช่รอบเดือน

อาการแพ้หรือเมายาคุมต่างจากอาการข้างเคียงทั่วไปอย่างไร?

อาการแพ้ยาคุมกับผลข้างเคียงมีอาการที่ใกล้เคียงกันอยู่มาก บ้างก็จะเรียกอาการแพ้ว่าเมายาคุม ซึ่งอาการแพ้นั้นจะต้องแยกให้ออกก่อนว่า อาการทั่วไปของผลข้างเคียง อย่างอาการอาเจียน เวียนหัว หรือรู้สึกพะอืดพะอม มักจะไม่ได้มาจากอาการแพ้

แล้วถ้าแพ้จะมีอาการยังไง?… อาการแพ้ยาคุมมีตั้งแต่ระดับแบบเบา ๆ หายไปเองได้ มักพบว่ามีผื่นแดงขึ้นบริเวณลำตัว เป็นลมพิษ ผิวหน้าบวมกว่าปกติ หนังตาและริมฝีปากบวม ถ้าหากอาการค่อนข้างเยอะ จะถึงขั้นรู้สึกแน่นหน้าอก ใจสั่น หายใจไม่ค่อยออก อึดอัด ส่วนในกลุ่มที่มีอาการแพ้อย่างรุนแรง เสี่ยงที่จะเกิดภาวะความดันต่ำ เป็นลมหมดสติ ตัวเย็น ชีพจรเริ่มต่ำ และเสี่ยงที่จะเกิดการเสียชีวิตได้หากไม่รีบทำการรักษาให้ทันท่วงที

สาเหตุที่ทำให้เกิดการแพ้ยาคุมกำเนิด

สาเหตุมีตั้งแต่ยาคุมที่เลือกใช้ บางรายใช้ยาคุมที่มีฮอร์โมนเอสโตรเจนค่อนข้างสูง จึงทำเกิดอาการแพ้ยาคุมตามมาได้ กรณีแบบนี้ให้เลือกซื้อยาคุมที่มีอัตราส่วนของฮอร์โมนลดลงก่อน ร่างกายจะได้เกิดความรู้สึกชิน นอกจากนี้อาการแพ้ที่น่ากลัวมักเกิดขึ้นได้จากปัญหาของระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายเกิดความผิดปก มีการสร้างแอนติบอดี้เข้าไปกำจัด เพราะคิดว่ายาคุมคือสารอันตราย เลยเกิดการต่อต้านตามมา

แนวทางการรักษาอาการแพ้ยาคุม

ในแนวทางการรักษาตามหลักของแพทย์แผนปัจจุบัน มีวิธีหลัก ๆ ที่ได้รับความนิยมกันดังนี้

1.เลิกกินยาคุมกำเนิด – หากอาการแพ้ยาคุมมีความรุนแรง และเฉียบพลัน จำเป็นต้องหยุดกินทันที จากนั้นให้รีบเข้ารับการตรวจรักษาจากแพทย์โดยด่วน ซึ่งแพทย์อาจจะแนะนำให้เปลี่ยนเป็นยาคุมตัวอื่น หรือใช้วิธีคุมกำเนิดแบบอื่นแทน อาจจะเป็นการใช้ถุงยางอนามัย ซึ่งถือว่าเป็นทางเลือกที่ดี แถมยังช่วยป้องกันการติดโรคในบางรายที่มีคู่นอนหลายคนได้

2.ใช้ยาในกลุ่มยาแก้แพ้ – เพื่อลดอาการแพ้ในกลุ่มที่มีอาการไม่รุนแรง แพทย์จะแนะนำให้เลือกใช้การกินยาแก้แพ้ในกลุ่มยาต้านฮิสตามีน หรือไดเฟรไฮดรามีน ร่วมด้วย ซึ่งจะเป็นตัวช่วยบรรเทาสารเคมีในร่างกาย ไม่ให้กระตุ้นอาการแพ้ ซึ่งอาการอาจจะมีอยู่ แต่เบาลง ในกรณีที่มีอาการแพ้รุนแรงจะเลือกใช้ยาคอร์ติโคสเตียรอยด์ ซึ่งจะได้ผลดีกว่าสองตัวแรก

3.เลือกใช้ยาคุมกำเนิดที่มีฮอร์โมนต่ำ – บางรายร่างกายจะมีความไวต่อฮอร์โมนเอสโตรเจนสูง ซึ่งปกติจะอยู่ที่ EE 35 mcg ดั้งนั้นให้ลดลงมาเลือกใช้ยาคุมกำเนิดที่มีฮอร์โมนต่ำไปจนถึงต่ำมาก ๆ ราว EE 20-30 mcg แทน หรือบางรายอาจจะเหมาะกับตัวยาที่มีฮอร์โมนต่ำราว EE 15-20 mcg เท่านั้น ซึ่งการเลือกระดับความฮอร์โมนของเม็ดยาคุมกำเนิดที่ได้ประสิทธิภาพ ควรได้รับคำปรึกษาจากแพทย์ เพื่อป้องกันผลเสียที่จะตามมา เนื่องจากยาคุมที่มีฮอร์โมนต่ำ มักจะทำให้สาว ๆ เกิดอาการข้างเคียง เลือดออกกะปริดกะปรอยตามมาได้

สาว ๆ ที่มีอาการแพ้ยาคุมกำเนิด อย่าเพิ่งกังวลจนเกินไป เพราะหากเป็นการรับประทานยาในช่วงเริ่มแรก อาจเกิดขึ้นได้ เนื่องจากร่างกายไม่คุ้นชินกับฮอร์โมนที่เข้ามา ซึ่งโดยทั่วไปอาการแพ้จะหายไปได้เองภายใน 2-3 เดือน และทางที่ดีควรใช้ยาคุมภายใต้การดูแลของแพทย์ หมั่นเข้ารับการตรวจสุขภาพตัวเองอย่างสม่ำเสมอ จะได้ช่วยป้องกันความผิดปกติที่อาจเกิดขึ้นได้ โดยเฉพาะผลข้างเคียงที่มีความรุนแรง ไปจนถึงการใช้ยาคุมกำเนิดที่ไม่ได้มาตรฐาน